เพลง เขมรปากท่อ เถา
Arts and Culture Arts and Culture
3.33K subscribers
2,681 views
33

 Published On Oct 14, 2021

รายการสืบสานงานบันทึกเสียงของครูประสิทธิ์ ถาวร โดยศูนย์ข้อมูลวัฒนธรรมดนตรี ( ประสิทธิ์ ถาวร ) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล สำหรับผลงานการบันทึกเสียงเพลงไทยเทปนี้เป็นการบรรเลงวงเครื่องสาย เพลง เพลงเขมรปากท่อ เถา ควบคุมการบรรเลงและบันทึกเสียงโดย ครูประสิทธิ์ ถาวร

เพลงเขมรปากท่อ เถา
เพลงเขมรปากท่อเป็นเพลงเก่าเพลงหนึ่งที่อาจารย์ทางดนตรีไทยได้แต่งขึ้นให้เป็นสำเนียงเขมร และ
คงจะแต่งขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ชาวเขมรที่ตั้งถิ่นฐานบ้านช่อง ณ ตำบลปากท่อ จังหวัดราชบุรี จึงได้ตั้งชื่อดังนี้ และสำนวนทำนอง ก็แสดงว่าเป็นเพลงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ แต่ไม่ทราบว่าท่านผู้ใดเป็นผู้แต่ง
ถึงสมัยรัชกาลที่ ๖ ได้มีผู้นำเพลงเขมรปากท่อ ๒ ชั้นมาแต่งขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้นและตัดลงเป็นชั้นเดียว เพื่อบรรเลงรวมกับของเดิม ( ๒ ชั้น ) ได้ครบเป็นเถาหลายทางด้วยกัน เช่น ทางของพระยาประสานดุริยศัพท์
(แปลก ประสานศัพท์) ทางของจางวางทั่ว พาทยโกศล และทางของหลวงประดิษฐไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) เป็นต้น แต่ทางของหลวงประดิษฐไพเราะ ซึ่งได้แต่งขึ้นเมื่อราว พ.ศ. ๒๔๖๔ ได้รับความนิยมแพร่หลายมากกว่าทางอื่น ส่วนบทร้องที่นิยมใช้ขับร้องกับเพลงเขมรปากท่อนี้ นำเอามาจากพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา
ของรัชกาลที่ ๒ หรือไม่ก็คัดมาจากบทละครรำเรื่องพระร่วงหรือขอมดำดิน พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ดังนี้

บทร้องเพลงเขมรปากท่อ เถา ( ข้อมูลถอดเสียงจากเทปรีล )
๓ ชั้น
บัดนี้ดะหมังเสนา ถือสารพระบิดามาให้
เหตุด้วยดาหาเวียงชัย เกิดการศึกใหญ่ไพรี

๒ ชั้น
ให้พี่กรีธาทัพขันธ์ ไปช่วยป้องกันบุรีศรี
จะรีบยกพหลมนตรี พรุ่งนี้ให้ทันพระบัญชา

ชั้นเดียว
จงอยู่ดีเถิดพี่จะลาน้อง อย่าหม่นหมองเศร้าสร้อยละห้อยหา
เสร็จศึกวันใดจะไคลคลา กลับมาสู่สมภิรมย์รัก

( อิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๒ )

( ตอนที่วิหยาสะกำ โอรสของท้าวกะหมังกุหนิง ซึ่งเป็นระตูผู้ครองนครอีกแห่งหนึ่ง ขณะที่เสด็จออกประพาสไพรก็ได้พบภาพของระเด่นบุษบาตกอยู่กลางทาง ภาพนี้คือภาพที่ ๒ ซึ่งเทพยดาได้ลักมาจากนายช่างวาดและแกล้งทิ้งไว้เพื่อให้แก่วิหยาสะกำ ซึ่งพอได้คลี่ออกเห็นเป็นครั้งแรก ก็หลงรัก ต่อมาเมื่อสืบดูจนรู้ว่าเป็นพระธิดาเมืองใดแล้ว จึงให้พระบิดาไปสู่ขอ แต่ท้าวดาหาไม่ยอมรับ เพราะได้อนุญาตให้แก่ระตูจรกาไปเสียแล้ว ด้วยเหตุนี้ท้าวกะหมังกุหนิง จึงมีความแค้นเคืองยิ่งนัก สั่งให้รวมกำลังของเมืองพรรคพวกเข้ารบพุ่งเพื่อช่วงชิงพระธิดาต่อไป เมื่อเป็นเช่นนี้ กรุงดาหาจึงจำเป็นที่จะต้องหากำลังมาช่วย โดยขอไปทางเมืองพี่น้องทั้งหลาย และพร้อมกันนั้นท้าวกุเรปันก็บังคับเรียกอิเหนาให้ลงมาช่วยการศึกครั้งนี้เป็นการด่วนด้วย พระราชสารครั้งนี้เป็นครั้งเด็ดขาดถึงตัดเป็นตัดตายระหว่างพระองค์กับอิเหนาราชบุตร จึงเป็นการจำเป็นที่ทำให้อิเหนาอึดอัดกระวนกระวายพระทัยยิ่งนัก ดังปรากฏตาม เนื้อร้องข้างต้นนี้ )

อ้างอิง
มนตรี ตราโมท และวิเชียร กุลตัณฑ์. ( ๒๕๒๓ ). ฟังและเข้าใจเพลงไทย. กรุงเทพมหานคร:
โรงพิมพ์ไทยเขษม.
สำเนียง มณีกาญจน์ และสมบัติ จำปาเงิน. ( ๒๕๓๙ ). ประชุมเพลงเถาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๑.
กรุงเทพมหานคร : ต้นอ้อ แกรมมี่ จำกัด.

show more

Share/Embed