ฟังเพลงไทยที่เรือนไทย ครั้งที่ ๔ : การบรรเลงแตรวง เพลง สร้อยลำปาง เถา โดย คณะคณะสุวรรณศิลป์
Arts and Culture Arts and Culture
3.34K subscribers
404 views
6

 Published On Aug 19, 2022

การบรรเลงแตรวง เพลง สร้อยลำปาง เถา ในรายการ ฟังเพลงไทยที่เรือนไทย ครั้งที่ ๔ โดยได้รับเกียรติจากแตรวงคณะ “ คณะสุวรรณศิลป์ ” แห่งวัดสุวรรณาราม จังหวัดนครปฐม มาจัดการบรรเลง ณ อาคารเรือนไทย
(ระเบียบ คุณะเกษม) สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท ในวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ ๒๕๔๑

สมัยรัตนโกสินทร์ ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว " แตรวง " ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของชาวตะวันตกคงจะได้แพร่หลายในหมู่คนไทย และได้รับความนิยมมากพอสมควร แตรวงเป็นวงดุริยางค์ที่มีเครื่องทำทำนองประกอบด้วยเครื่องเป่าทั้งสิ้น มีทั้งเครื่องที่ทำด้วยทองเหลืองและทำด้วยไม้ ลำดับเสียงเป็นไปตามแบบดนตรีสากล คือแบ่งเป็น Chromatic ได้ ๑๒ เสียง เพราะฉะนั้นเมื่อนำมาบรรเลงเพลงไทย บางเพลงจึงฟังเพี้ยนแปร่ง ไม่สนิทหู สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ทรงคิดปรับปรุงนำแตรวงมาบรรเลงเพลงไทยเป็นครั้งแรก โดยให้แตรวงของกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์บรรเลงเพลงไทยที่ทรงคัดเลือก เช่น เพลงปลาทอง ๓ ชั้น เพลงอาหนู ๒ ชั้น และชั้นเดียว วิธีปรับปรุงแตรวงนี้ มิได้แยกการบรรเลงของเครื่องดนตรีออกเป็นแต่ละพวกตามแบบประสานเสียงตามหลักวิชาของดนตรีสากล แต่ก็มิได้แยกทำนองบรรเลงเป็นระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ หรือซอด้วง ซออู้ อย่างแบบวงดนตรีไทย แต่ประดิษฐ์ทางขึ้นอีกแบบหนึ่ง อนุโลมวิธีการบรรเลงในวงดนตรีไทยเรียกว่า " ทางแตรวง " โดยให้บาริโทนบรรเลงแนวเนื้อเพลง ทรัมเป็ดและคาริเน็ตเก็บบ้างเดินเนื้อเพลงบ้าง ฮอร์นและยูโฟเนียม ดำเนินทำนองขัดและหยอกล้อตามโอกาส เบสดำเนินจังหวะห่างๆ และใช้เครื่องกำกับจังหวะของไทย คือ กลองแขก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ฉาบ โหม่ง ส่วนแตรวงของเอกชนนั้น ขุนสมานประหาสกิจ (แคล้ว วัชรโรบล) เป็นผู้เริ่มขึ้นก่อนเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๕ แบบแผนและวิธีการบรรเลงก็ยึดถือวงของทางราชการเป็นแบบอย่าง

เพลงสร้อยลำปาง เถา เป็นเพลงประเภทหน้าทับสองไม้ มี ๒ ท่อน ใช้แบบแผนการประพันธ์ของเพลงประเภทปรบไก่ โดยยึดถือความยาวของจำนวนจังหวะของแต่ละท่อนเท่ากันตั้งแต่อัตราจังหวะ ๓ ชั้น ๒ ชั้น และชั้นเดียว
เพลงสร้อยลำปาง ๒ ชั้น เป็นเพลงพื้นเมืองภาคเหนือ ครูบุญยงค์ เกตุคง ได้นำมาแต่งขยายขึ้นเป็นอัตรา ๓ ชั้น และตัดลงเป็นชั้นเดียว ครบเป็นเพลงเถาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ ท่วงทำนองของเพลงในอัตรา ๓ ชั้น ท่อนที่ ๑ เป็นทางกรอ ท่อนที่ ๒ สอดแทรกลูกล้อลูกขัด ในอัตรา ๒ ชั้น ทั้ง ๒ ท่อน เป็นทางกรอ อัตราชั้นเดียวได้สอดแทรกกลวิธีการบรรเลง เช่น เหลื่อม ล่วงหน้า ด้วยลีลาที่สนุกสนานเร้าใจ

อ้างอิง
สูจิบัตรฟังเพลงไทยที่เรือนไทยมหิดล ครั้งที่ ๔
สถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเพื่อพัฒนาชนบท

show more

Share/Embed